วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วัดยางทอง





โครงงานวิชา ส32103 โครงงานประวัติศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2553



ชื่อโครงงาน สงขลาแต่แรก (Befor Songhlak)





รายชื่อผู้เสนอโครงงาน

นางสาวทิพย์วิมล พึ่งบุญ เลขที่20

นางสาววรรณดี ล่องแดง เลขที่ 22

นางสาวอภิชญา จันทระ เลขที่ 23

นางสาวเจนจิรา คังฆะสุวรรณ เลขที่ 25

นางสาวรัชชนก คำทอง เลขที่ 35


อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน

อาจารย์การุณย์ สุวรรณรักษา

ตำแหน่ง ครูประจำวิชากลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา





ชื่อโครงงาน : สงขลาแต่แรก (Befor Songhlak)


หลักการและเหตุผล : เนื่องจากปัจจุบันประชาชนที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงประวัติความเป็นมาของถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษของตนทางคณะผู้จัดทำจึงรวบรวมและเผยแผ่ประวัติความเป็นมาของตำบลบ่อยางให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจมากยิ่งขึ้นแล้วยังสามารถนำไปบอกเล่าให้ลูกหลานได้ในอนาคต



วัตถุประสงค์ของโครงงาน :

1.เพื่อเผยแผ่ประวัติความเป็นมาของตำบลบ่อยาง

2.เพื่อให้ได้ความรู้ที่สามารถพิสูจน์ได้จริง

3.เพื่อให้รู้ที่มาของบรรพบุรุษ


ขั้นตอนและวิธีการจัดทำ

1. นักเรียนแต่ละกลุ่มเขียนโครงร่างของโครงงาน

2. เสนอโครงร่างให้ครูผู้สอนอนุมัติ

3. เมื่อครูผู้สอนอนุมัติโครงร่างโครงงานแล้ว ให้นักเรียนเริ่มดำเนินการจัดทำ โดยทำการศึกษารวบรวม

4. ไปศึกษาสถานที่จริง

5.แต่ละกลุ่มนำเสนอและแสดงโครงงานข้อมูลเก็บไว้ในBlogหรือรายงาน

ผลการศึกษา

วัดยางทอง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๑ ถนนนางงาม ในเขตเทศบาลนครสงขลา ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ โดยมีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดถนนสงขลาบุรี ซึ่งมีสถานีดับเพลิงของเทศบาลอยู่ฝั่งตรงข้าม
  • ทิศใต้ ติดด้านหลังบ้านเรือนของชาวบ้านริมถนนยะหริ่ง
  • ทิศตะวันออก ติดถนนนางงาม
  • ทิศตะวันตก ติดด้านหลังบ้านเรือนของชาวบ้านริมถนนนครใน

วัดยางทอง เป็นที่ตั้งของ บ่อยาง ซึ่งเป็นชื่อท้องถิ่นของที่ตั้งเมืองสงขลา ส่วนจะสร้างขึ้นเมื่อไหร่นั้นไม่ปรากฎหลักฐาน สืบได้แต่เพียงเค้าเงื่อนจากพงศาวดารเมืองสงขลาว่า ในราชการที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยยังคงรบกับพม่า เมื่อเกิดสงครามเก้าทัพ พม่าได้บุกมาทางถลางหรือภูเก็ต กองทัพเมืองสงขลาจึงได้ยกไปช่วย หลังจากเสร็จศึกเก้าทัพแล้วเจ้าเมืองสงขลาก็ได้สร้างอุโบสถวัดยางทอง (ทำนองสร้างบุญล้างบาป) จึงคาดหมายว่าวัดยางทองน่าจะมีอยู่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ หรือคงจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา…

“ครั้น ณ ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๑๕๗ (พ.ศ.๒๓๓๘) อ้ายพม่าข้าศึกยกกองทัพเรือมาตีเมืองถลางแตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) กับพระยาวิเศษโกษาเปนแม่ทัพ โปรดเกล้าฯ ให้นายเถี้ยนจ๋งมหาดเล็กบุตรพระอนันตสมบัติเปนหลวงนายฤทธิ์ ออกมาในกองทัพเจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) ด้วย เจ้าพระยาพลเทพยกกองทัพเรือออกมาขึ้นเดินกองทัพที่เมืองชุมพรไปเมืองถลาง เจ้า พระยาพลเทพให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) เชิญท้องตราออกมาเมืองสงขลา ในท้องตราโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ยกกองทัพไปถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ แล้วให้เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะ ให้หลวงนายฤทธิ์ยกไปช่วยตีเมืองถลาง เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลาได้เจ็ดร้อยคน ให้หลวงพลเปนนายทัพ เกณฑ์ไพร่เมืองจะนะได้สองร้อยคน ให้จีนขวัญซ้ายมหาดเล็กบุตรพระจะนะ (เค่ง) เปนนายทัพ รวมไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะเก้าร้อยคน มอบให้หลวงนายฤทธิ์ยกไปทางเมืองพัทลุงไปสมทบทัพเจ้าพระยาพลเทพที่เมืองตรัง แล้วเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่สองร้อยคน ให้หลวงจ่ามหาดไทยยกไปตั้งถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ กองทัพเจ้าพระยาพลเทพกับพระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ ยกไปถึงเมืองถลาง ได้ยกเข้าตีพวกพม่าข้าศึกแตกหนีกลับไป เจ้าพระยาพลเทพจัดราชการเมืองถลางอยู่ปี ๑ เสร็จราชการแล้วยกกองทัพมาเมืองสงขลาทางเมืองตรัง ครั้งนั้นด่าตูปักหลันเจ้าเมืองยิริงคิดขบถ เจ้าพระยาพลเทพจัดให้กองทัพเมืองพัทลุง เมืองสงขลา สมทบกับกองทัพหลวง ให้หลวงนายฤทธิ์เปนแม่ทัพยกออกไปตีเมืองยิริง หลวงนายฤทธิ์ยกกองทัพออกไปตีทัพด่าตูปักหลันเมืองยิริงถึง ตลุมบอน จับตัวด่าตูได้ จึ่งได้แยกเมืองตานีออกเปน ๗ เมืองตามพระบรมราชานุญาต เหตุด้วยเมืองตานีเมืองเดียวมีกำลังมาก เมืองสงขลามีกำลังน้อย แล้วตั้งให้นายพ่ายทหารเอกเมืองสงขลาเปนผู้ว่าราชการเมืองยิริง จัดราชการแยกเมืองตานีอยู่ ๖ เดือน เสร็จราชการแล้ว ยกกองทัพพาตัวด่าตูกลับเข้ามาเมืองสงขลา เจ้า พระยาพลเทพ พระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ ก็ยกกองทัพกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ เมืองสงขลาเปนปรกติไม่มีทัพศึกอยู่ ๒ ปี ในระหว่างเมืองสงขลาเปนปรกติอยู่ ๒ ปีนั้น เจ้าพระยาอินทคิรี ได้สร้างพระอุโบสถวัดยางทองขึ้นอาราม ๑ โรง พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาศอาราม ๑ รวม ๒ อาราม แลเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฟากแหลมสน.”

สภาพปัจจุบัน วัดยางทองมีอุโบสถ ๑ หลัง ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หลัง และกุฏิ ๕ หลัง ซึ่งเสนาสนะเหล่านี้ เก่าที่สุดคือกุฏิที่ผู้เขียนอยู่สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๐ นอกนั้นเกือบทั้งหมดสร้างมาไม่เกิน ๒๐ ปี แต่เมื่อขุดดินลงไปภายในวัด ก็จะเจอก้อนอิฐในสมัยต่างๆ ทับถมอยู่หนาแน่นและทั่วไป เคยมีผู้ให้ความเห็นว่า ถ้าจะศึกษายุคสมัยวัดยางทอง อาจศึกษาจากก้อนอิฐแต่ละรุ่นที่ฝังอยู่ในดิน…

บ่อยาง เป็นบ่อน้ำโบราณ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบ่อยางเก่าที่เหลืออยู่เพียงบ่อเดียวภายในวัด และยังคงใช้กันอยู่จนกระทั้งปัจจุบัน… ขณะนี้ทางวัดได้รับการอุปถัมภ์จากสโมสรโรตารีสงขลาสร้าง บ่อยาง ขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์คู่กับวัดและเมืองสงขลาสืบต่อไป…
www.watyangtong.com

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วิธีการทางประวัติศาสตร์

วิธีการทางประวัติศาสตร์

วิธีการทางประวัติศาสตร์ คือ การรวบรวม พิจารณาไตร่ตรอง วิเคราะห์และตีความจาก หลักฐานแล้วนำมาเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ เพื่ออธิบายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอดีตว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้น หรือเหตุการณ์ในอดีตนั้นได้เกิดและคลี่คลายอย่างไร ซึ่งเป็นความมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย
เป็นขั้นตอนแรก นักประวัติศาสตร์ต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะศึกษาอะไร อดีตส่วนไหน สมัยอะไร และเพราะเหตุใด เป็นการตั้งคำถามที่ต้องการศึกษา นักประวัติศาสตร์ต้องอาศัยการอ่าน การสังเกต และควรต้องมีความรู้กว้างๆ ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนั้นๆมาก่อนบ้าง ซึ่งคำถามหลักที่นักประวัติศาสตร์ควรคำนึงอยู่ตลอดเวลาก็คือทำไมและเกิดขึ้น อย่างไร

ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูล
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ให้ข้อมูล มีทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งที่เป็นหลักฐานชั้นต้น(ปฐมภูมิ) และหลักฐานชั้นรอง(ทุติยภูมิ) การรวบรวมข้อมูลนั้น หลักฐานชั้นต้นมีความสำคัญ และความน่าเชื่อถือมากกว่าหลักฐานชั้นรอง แต่หลักฐานชั้นรองอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่ายกว่าหลักฐานชั้นรองในการ รวบรวมข้อมูลประเภทต่างๆดังกล่าวข้างต้น ควรเริ่มต้นจากหลักฐานชั้นรองแล้วจึงศึกษาหลักฐานชั้นต้น ถ้าเป็นหลักฐานประเภทไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ควรเริ่มต้นจากผลการศึกษาของ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ก่อนไปศึกษาจากของจริงหรือสถานที่จริง การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีควรใช้ข้อมูลหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าผู้ศึกษาต้องการศึกษาเรื่องอะไร ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลที่ดีจะต้องจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ทั้งข้อมูลและแหล่งข้อมูลให้สมบูรณ์และถูกต้อง เพื่อการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ

ขั้นตอนที่ 3 การประเมินคุณค่าของหลักฐาน
วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์ คือ การตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลในหลักฐานเหล่านั้นว่า มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานและวิพากษ์ข้อมูลโดยขั้นตอนทั้งสองจะกระทำควบ คู่กันไป เนื่องจากการตรวจสอบหลักฐานต้องพิจารณาจากเนื้อหา หรือข้อมูลภายในหลักฐานนั้น และในการวิพากษ์ข้อมูลก็ต้องอาศัยรูปลักษณะของหลักฐานภายนอกประกอบด้วยการ วิพากษ์หลักฐานหรือวิพากษ์ภายนอก การวิพากษ์หลักฐาน (external criticism) คือ การพิจารณาตรวจสอบหลักฐานที่ได้คัดเลือกไว้แต่ละชิ้นว่ามีความน่าเชื่อถือ เพียงใด แต่เป็นเพียงการประเมินตัวหลักฐาน มิได้มุ่งที่ข้อมูลในหลักฐาน ดังนั้นขั้นตอนนี้เป็นการสกัดหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือออกไปการวิพากษ์ ข้อมูลหรือวิพากษ์ภายใน
การวิพากษ์ข้อมูล (internal criticism) คือ การพิจารณาเนื้อหาหรือความหมายที่แสดงออกในหลักฐาน เพื่อประเมินว่าน่าเชื่อถือเพียงใด โดยเน้นถึงความถูกต้อง คุณค่า ตลอดจนความหมายที่แท้จริง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการประเมินหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะข้อมูลในเอกสารมีทั้งที่คลาดเคลื่อน และมีอคติของผู้บันทึกแฝงอยู่ หากนักประวัติศาสตร์ละเลยการวิพากษ์ข้อมูลผลที่ออกมาอาจจะผิดพลาดจากความ เป็นจริง

ขั้นตอนที่ 4 การตีความหลักฐาน
การตีความหลักฐาน หมายถึง การพิจารณาข้อมูลในหลักฐานว่าผู้สร้างหลักฐานมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร โดยดูจากลีลาการเขียนของผู้บันทึกและรูปร่างลักษณะโดยทั่วไปของประดิษฐ์กรรม ต่างๆเพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริงซึ่งอาจแอบแฟงโดยเจตนาหรือไม่ก็ตามในการ ตีความหลักฐาน นักประวัติศาสตร์จึงต้องพยายามจับความหมายจากสำนวนโวหาร ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ของผู้เขียนและสังคมในยุคสมัยนั้นประกอบด้วย เพื่อทีจะได้ทราบว่าถ้อยความนั้นนอกจากจะหมายความตามตัวอักษรแล้ว ยังมีความหมายที่แท้จริงอะไรแฝงอยู่

ขั้นตอนที่ 5 การสังเคราะห์และการวิเคราะห์ข้อมูล
จัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้ศึกษาค้นคว้าจะต้องเรียบเรียงเรื่อง หรือนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่เป็นการตอบหรืออธิบายความอยากรู้ ข้อสงสัยตลอดจนความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้านั้นในขั้นตอนนี้ ผู้ศึกษาจะต้องนำข้อมูลที่ผ่านการตีความมาวิเคราะห์ หรือแยกแยะเพื่อจัดแยกประเภทของเรื่อง โดยเรื่องเดียวกันควรจัดไว้ด้วยกัน รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กัน เรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน จากนั้นจึงนำเรื่องทั้งหมดมาสังเคราะห์หรือรวมเข้าด้วยกัน คือ เป็นการจำลองภาพบุคคลหรือเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์และความต่อเนื่อง โดยอธิบายถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผล ทั้งนี้ผู้ศึกษาอาจนำเสนอเป็นเหตุการณ์พื้นฐาน หรือเป็นเหตุการณ์เชิงวิเคราะห์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการศึกษา